คู่มือวางแผนอาชีพขายของกิน ทำตามไม่ยาก เริ่มต้นได้เลย สร้างรายได้มั่นคง

Make Healthy Food Choices  > Food, Lifestyle >  คู่มือวางแผนอาชีพขายของกิน ทำตามไม่ยาก เริ่มต้นได้เลย สร้างรายได้มั่นคง
ขายของกิน
| | 0 Comments

              อย่างที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าการเปิดร้านขายของกินถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีรายได้มั่นคง แต่ก็หินมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เพราะถ้าไม่อยากขาดทุนเจ้าของร้านต้องดำเนินการเองในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกทำเลที่ตั้ง ซื้อวัตถุดิบ เตรียมวัตถุดิบ คำนวณต้นทุน ปรุงอาหาร ลงมือขาย สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า หรือแม้กระทั่งทำความสะอาดตอนปิดร้าน เรียกว่ากว่าจะอยู่ตัวทำเอาหลายคนถึงกับท้อแทบอยากปิดร้านเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีคำพูดล้อเลียนว่า “ถ้าเกลียดใคร ยุให้ไปเปิดร้านอาหาร” แต่ความจริงแล้วหากวางแผนให้ดีตั้งแต่ก้าวแรก ธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

ก่อนเริ่มต้นธุรกิจขายของกิน ควรเตรียมความพร้อมเรื่องไหนบ้าง

              ถ้าอยากให้ร้านของกินขายของตัวเองอยู่รอด ในสถานการณ์ที่มีร้านอาหารขายอยู่ทุกซอยอย่างประเทศไทย เรื่องแรกที่ต้องทำคือ วางแผนการดำเนินงานอย่างละเอียดตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน ซึ่งจุดที่ควรให้ความสำคัญมีดังนี้

  • เขียนแผนธุรกิจ

                                แค่เปิดร้าน ทำไมต้องเขียนแผนธุรกิจ? นั่นเพราะการเขียนแผนธุรกิจทำให้การกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ทำได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งในการเขียนแผนธุรกิจควรเริ่มตั้งแต่แนวคิดคอนเซ็ปต์ร้าน แผนการตลาด แผนการเงิน รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการ ความเสี่ยง และแผนการรับมือ

  • พิถีพิถันในการเลือกทำเล

ทำเลที่ดีไม่ใช่แค่คนเยอะเท่านั้น แต่ทำเลที่ดีต้องตรงกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น อยากเปิดร้านอาหารที่ขายอาหารเกรดพรีเมียมต้องขายราคาสูง ควรเลือกเปิดร้านในย่านทำเลทองอย่างในย่านธุรกิจ เพราะคนโซนนี้เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง

  • ให้ความสำคัญกับการเลือกวัตถุดิบ

วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะขายเมนูไหน เรื่องต่อมาที่ต้องทำคือ คัดสรรวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการปรุงอาหาร โดยนอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับความสด และความสะอาดของวัตถุดิบด้วย

หลังเปิดร้านขายของกินแล้ว เรื่องไหนบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ

หลังจากผ่านช่วงเตรียมตัวเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การเปิดร้านขายของกินอย่างที่ตั้งใจ แต่ถึงจะเปิดร้านเป็นที่เรียบร้อยก็ยังมีหลายเรื่องที่ให้ความสำคัญ

  • การรักษามาตรฐาน

ในช่วงแรกที่เปิดลูกค้าอาจมาซื้อเพราะอยากลองชิมรสชาติอาหารของร้านเปิดใหม่ แต่สิ่งที่จะทำให้ร้านอยู่ได้ต้องเกิดจากการซื้อซ้ำของลูกค้า จนกลายเป็นลูกค้าประจำที่พร้อมจะบอกทุกคนว่า “อาหารร้านนี้อร่อย” การรักษามาตรฐานของรสชาติอาหาร วัตถุดิบ และการบริการ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

  • การลงทุนแบบทุนต่อทุน

“ขายดีจนเจ๊ง” เป็นวลีที่คนขายของกินมากมายเจอกับตัว เพราะบางคนพอเริ่มเห็นว่าร้านขายดีมีลูกค้าประจำมากมาย ก็มักจะเร่งขยายร้าน ขยายสาขา ด้วยการนำเงินเก็บส่วนตัวหรือการกู้เงินมาลงทุน เมื่อรายรับเท่าเดิมแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น สุดท้ายกลายเป็นขาดทุนจนบัญชีติดตัวแดง ดังนั้นจึงไม่ควรรีบร้อน ควรใช้วิธีลงทุนแบบทุนต่อทุนเพื่อลดความเสี่ยง เมื่อสะสมกำไรได้จำนวนมากแล้วค่อยขยับขยายร้านก็ไม่สาย

  • การปรับกลยุทธ์ในการขาย

ถ้ามองแล้วว่ายอดขายเริ่มหยุดนิ่งไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม วิธีที่จะช่วยให้ขายดีมากขึ้นคือ การปรับกลยุทธ์การขาย อาจใช้วิธีลดราคา แถมสินค้า ทำเมนูใหม่ หรือจะเปลี่ยนวิธีทำการตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้า ก็ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของแต่ละร้าน

จะเห็นได้ว่าการขายของกินให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยการวางแผนธุรกิจตั้งแต่ก่อนเปิดร้านจนถึงเปิดร้าน ยังต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และรักษามาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ไม่ว่าขายอาหารประเภทไหนก็ไปรุ่งพุ่งแรงแน่นอน